วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประโยชน์ของดนตรี


ประโยชน์ของดนตรี   

รศ.ดร.ณรุทธ์ สุทธิจิตต์
หัวหน้าภาควิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ครอบครัว  กับคนตรีมีส่วนพัฒนาลูกได้อย่างไร
ดนตรี ... ที่มีองค์ประกอบที่สมบูรณ์แบบ เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ด้วยความรักและพยายาม ย่อมมีคุณค่าในตัวเอง มนุษย์ด้วยกันเอง ควรที่จะได้ชื่นชม และสัมผัสดนตรีตั้งแต่เด็ก เมื่อสร้างเสริมความสามารถ ทั้งด้านสติปัญญา ความรู้สึก และพัฒนาการด้านอื่น ดนตรีมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อเด็ก และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ของประเทศ และสังคมโลกต่อไป
 
              นับตั้งแต่การปฏิสนธิในครรภ์มารดา ครอบครัว คือ บิดาและมารดา นับว่ามีส่วนสำคัญยิ่งในการดูแล และช่วยให้พัฒนาบุตรของตนเอง เป็นไปอย่างสมบูรณ์ ปัจจัยหลายประการที่ช่วยให้พัฒนาการของเด็ก ดำเนินไปอย่างปกติ ปัจจัยหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และมีความสำคัญขึ้น เป็นลำดับ คือ ดนตรี ทั้งนี้เนื่องจาก อิทธิพลของเสียงดนตรีที่ดี มีส่วนอย่างยิ่งในการสร้างเสริม และพัฒนาการหลายด้านของเด็ก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา บิดามารดาที่เห็นความสำคัญของดนตรี เรียนรู้ เพื่อนำดนตรีไปใช้ในกระบวนการเลี้ยงดูบุตรของตน ย่อมส่งผลโดยตรง ในการช่วยให้เด็ก เป็นผู้มีดนตรีการ และช่วยส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ ของเด็กอีกด้วย บทความนี้จะนำเสนอเรื่องราว เกี่ยวกับความสำคัญของดนตรี ต่อเด็ก และเสนอแนะหลักการ และวิธีการสำหรับครอบครัวในการนำดนตรีไปใช้ เพื่อประโยชน์สำหรับเด็ก ตั้งแต่ในครรภ์มารดา จนถึงหกขวบโดยประมาณ
           พัฒนาการในครรภ์มารดา  
  ทางการแพทย์กล่าวไว้ว่า เมื่อทารกในครรภ์มารดา อายุประมาณห้าเดือน จะเริ่มรับรู้ หรือสนองตอบต่อเสียง เนื่องจากพัฒนาการด้านร่างกาย เกี่ยวกับอวัยวะการได้ยินเริ่มต้นขึ้น และพัฒนาไปเรื่อยๆ ตามลำดับ การใช้ดนตรีในช่วงนี้ ได้แก่ การเปิดเพลงให้เด็กฟัง การกระทำเช่นนี้ ช่วยกระตุ้นให้เด็กพัฒนาการได้ยินดีขึ้น และเป็นการวางรากฐานในเรื่อง ความพร้อมทางดนตรีด้วย จากการทดลองได้ผลว่า การเปิดเพลงคลาสสิก โดยเฉพาะเพลงของโมทซาร์ท ทำให้เด็กมีพัฒนาการ ทางการได้ยิน และความมีดนตรีกาลได้ อย่างไรก็ตาม เพลงที่นำมาเปิดให้เด็กฟัง ควรเป็นเพลงที่มีจังหวะช้า หรือค่อนข้างช้า และท่วงทำนองที่ไพเราะ ไม่ดังจนเกินไป ซึ่งเพลงที่เข้าลักษณะเช่นนี้ คือ ท่อนที่สองของเพลงซิมโฟนี หรือคอนเชร์โต เป็นต้น เหตุผลที่เพลงดังกล่าวมีผลต่อเด็ก เนื่องจากเพลงเหล่านี้ ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นอย่างงดงาม มีองค์ประกอบครบถ้วน ไม่หนัก หรือเคร่งเครียดจนเกินไป ซึ่งคลื่นเสียงจากเพลงเหล่านี้ ช่วยทำให้คลื่นสมอง มีการพัฒนาไปในทางที่ดี เร้าให้ส่วนหนึ่งของเซลล์ประสาททำงานได้ดีขึ้น ช่วยสร้างสมาธิ และทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีต่อไป ซึ่งการฟังเพลงเช่นนี้ สามารถทำได้ต่อเนื่องไปจนชั่วชีวิตของแต่ละคน
         กล่าวได้ว่า บทบาทของครอบครัวในช่วงนี้ ได้แก่ การบำรุงครรภ์ให้สมบูรณ์ที่สุด และศึกษาในเรื่อง การเลือกสรรดนตรีที่เหมาะสม เพื่อจัดหาเพลงต่างๆ ให้เด็กในครรภ์ได้ฟัง เป็นช่วงๆ โดยเฉพาะช่วงที่เด็กตื่น หรือช่วงใกล้หลับอย่างสม่ำเสมอ

ก่อนทารกลืมตาดูโลก พัฒนาการทางดนตรี ได้เริ่มมานานแล้ว และจะเริ่มพัฒนาต่อไป โดยการจัด  สิ่งแวดล้อมทางดนตรีที่ดี ของครอบครัว
                             
                              พัฒนาการในช่วง 0-2 ขวบ
               เมื่อเด็กลืมตาดูโลก การสนองตอบและการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว เป็นเรื่องที่เด็กทุกคน ปฏิบัติอยู่เสมอ และมีมากขึ้นเป็นลำดับ ในทางดนตรี เด็กมีการตอบสนองต่อเสียงดนตรีเรื่อยมา ต่อจากการอยู่ในครรภ์มารดา อย่างไรก็ตาม เสียงดนตรีในขณะนี้ เป็นสิ่งเร้าที่มีอิทธิพลมากกว่า ขณะที่เด็กอยู่ในท้อง เนื่องจากการได้ยินเสียงงเป็นไปโดยตรง มิได้ผ่านร่างกายของมารดา และที่สำคัญ คือ พัฒนาการในทุกด้านเจริญขึ้นเป็นลำดับ การสนองตอบ และการเรียนรู้ดนตรี จึงมีมากขึ้นเป็นลำดับด้วย ในระยะห้า ถึงหกเดือนแรก เมื่อเด็กลืมตาดูโลก การฟังเพลงยังคงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการสนองตอบต่อดนตรี ด้วยวิธีอื่นๆ เด็กยังไม่สามารถกระทำได้ เมื่อเด็กมีพัฒนาการมากขึ้นตามวัย การเคลื่อนไหวโดยเสรี ต่อดนตรีที่ได้ยิน โดยเฉพาะเมื่อได้ฟังเพลงที่มีจังหวะชัดเจน การเลียนแบบเสียงเพลงที่ได้ยิน และเมื่อเริ่มพูดได้ การร้องเพลง หรือการเลียนแบบเสียงเพลงที่ได้ยิน จะมีมากขึ้นเป็นลำดับ เด็กสามารถฟังเพลงได้หลากหลาย ทั้งเพลงช้า เพลงเร็ว ขึ้นอยู่กับอารมณ์ และโอกาสเป็นสำคัญ ขณะเมื่อเด็กจะนอน การเปิดเพลงช้าๆ เบาๆ ให้เด็กฟัง เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง ในขณะที่เด็กตื่น และอยู่ในอารมณ์ร่าเริง การเปิดเพลงที่ครึกครื้น ให้เด็กสนองตอบโดยการเคลื่อนไหว เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพื่อพัฒนาการฟังดนตรี และพัฒนาเรื่องของร่างกาย และจิตใจได้เป็นอย่างดี เพลงที่นำมาให้เด็กฟังในช่วงนี้ ยังคงเป็นเพลงคลาสสิก และเพลงไทยเดิมที่ไพเราะ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกเพลงประเภทอื่นๆ ที่มีคุณค่า ให้ฟังได้ทั้งสิ้น ซึ่งควรมีทั้งเพลงร้อง และเพลงบรรเลงควบคู่กันไป เพลงร้องสามารถช่วยพัฒนาเรื่องของภาษา ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่เพลงบรรเลงสามารถใช้พัฒนา เรื่องของความเข้าใจ ความซาบซึ้งในดนตรี และช่วยพัฒนาด้านอารมณ์ ความรู้สึกได้อย่างดีอีกด้วย เด็กในวัยนี้สามารถพัฒนาแนวคิดด้านทำนอง และจังหวะได้ในระดับหนึ่ง โดยสังเกตได้จาก คุณภาพของการสนองตอบ ต่อเสียงดนตรี
                           การฟังเพลง เป็นกิจกรรมที่สำคัญ และกระทำได้เสมอ กับเด็กวัยนี้
                                
               บทบาทของครอบครัวในช่วงนี้ ได้แก่ การเลี้ยงดูให้เด็กได้รับสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตให้ครบถ้วน โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับดนตรี ควรเลือกสรรบทเพลงที่มีคุณค่า ให้เด็กฟังในหลายๆ โอกาสต่อเนื่องกันไปทุกวัน เพื่อสร้างเสริมพัฒนาการทางดนตรี ซึ่งมีผลโดยตรง ต่อพัฒนาการทางสมอง ร่างกาย และจิตใจ ในเวลาเดียวกัน
                              พัฒนาการในช่วง 3-6 ขวบ
                เด็กในวัยนี้ สามารถสนองตอบดนตรีดีขึ้นกว่าในวัยที่ผ่านมา การรับรู้เรื่อง จังหวะ และทำนองดีขึ้น สามารถร้องเพลงต่างๆ ได้ และมีความสนใจในเรื่องของดนตรี กว้างขวางมากขึ้น แต่เนื่องจากพัฒนาเรื่องทักษะการร้องเพลง และแนวคิดเรื่อง ระดับเสียงยังไม่สมบูรณ์ การร้องเพลงจึงเพี้ยนได้ การเคาะจังหวะเป็นสิ่งที่เด็กวัยนี้ชอบกระทำ รวมทั้งการเคลื่อนไหว เข้ากับจังหวะเพลงที่เร็ว เร้าใจ เด็กเริ่มมีสมาธิในการฟังเพลงมากขึ้น สามารถฟังเพลงยาวๆ ได้กว่าในวัยที่ผ่านมา สิ่งแวดล้อมทางดนตรี ที่ครอบครัวควรให้แก่เด็ก ได้แก่ การสร้างการจูงใจ ให้เด็กมีความรัก ความชอบ มีทัศนคติที่ดีต่อดนตรี โดยการสานต่อการปฏิบัติ ตั้งแต่วัยที่ผ่านมา คือ การ
                                                                                                                   3
             เปิดเพลงให้เด็กฟังอย่างสม่ำเสมอ และให้มีความหลากหลาย ของรูปแบบมากขึ้น เพลงต่างๆ ควรมีความยาวเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ ควรหาโอกาสพาเด็กไปชมการแสดงดนตรีอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ เช่น ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หรือการแสดงกลางแจ้ง ตามที่ต่างๆ ที่ไม่มีพิธีการมากนัก เช่น ดนตรีในสวน ณ สวนลุมพินี หรือสังคิตศาลา ที่โรงละครแห่งชาติ เด็กในวัยนี้ เริ่มพัฒนาด้านสังคมมากขึ้น เป็นวัยที่เริ่มเข้าโรงเรียน การเรียนดนตรี สามารถช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางสังคม ได้อย่างดี ได้แก่ การร้องเพลง การเคลือนไหวประกอบจังหวะเพลง ร่วมกับเพื่อนๆ หรือในหมู่ญาติพี่น้อง อีกสิ่งหนึ่ง ที่ครอบครัวควรเลือกสรรให้กับเด็ก อย่างดี คือ โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนที่ดี ควรมีการสอนเรื่อง การเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านดนตรี และศิลปะ ทั้งนี้ เนื่องจากพัฒนาการของสมอง ในส่วนที่เกี่ยวข้อง กับความคิดสร้างสรรค์ เจริญอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ การเรียนรู้ และมีประสบการณ์ทางดนตรี ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรง กับสมองส่วนพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เมื่อเด็กได้ปฏิบัติกิจกรรมทางด้านตรี อย่างสม่ำเสมอ ย่อมทำให้การเจริญเติบโตของสมองส่วนนี้ เป็นไปอย่างเต็มที่ ทำให้เด็กมีความคิดความอ่าน สามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ดีในอนาคตต่อไป ในส่วนของดนตรีโดยตรง เด็กจะมีพื้นฐานทางดนตรีที่ครบถ้วน ทำให้สามารถพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทางดนตรีต่อไปได้ อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเด็กไม่สนใจเรียนดนตรีเป็นอาชีพ ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ความรักความซาบซึ้งในดนตรี ย่อมจะติดตัวเด้กไปชั่วชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างให้เกิดกับผู้ใหญ่ ได้ยากกว่าในวัยเด็ก
          การเคาะจังหวะโดยใช้เครื่องดนตรี ที่เด็ก หรือพ่อแม่ ช่วยกันประดิษฐ์ขึ้นมา เป็นกิจกรรมากที่สุดอย่างหนึ่ง
              เมื่อเด็กย่างเข้าสู่โรงเรียนระดับประถมศึกษา ครอบครัวควรแน่ใจเช่นกันว่า โรงเรียสามารถให้ประสบการณ์เรียนรู้ทางด้านดนตรีแก่เด็ก อย่างถูกต้อง เหมาะสม เพื่อสานต่อพัฒนาการทางดนตรีต่อไป กล่าวได้ว่าในช่วงนี้ เป็นความจำเป็นของครอบครัว ที่ควรจัดเตรียมโรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนประถม ให้เหมาะสมกับลูกของตน โดยเลือกสรรโรงเรียน ที่มีการจัดสอนดนตรีที่ดี ในส่วนสิ่งแวดล้อมทางบ้าน ควรดำรงให้เด็กได้รับประสบการณ์ทางดนตรีต่อเนื่องจากวัยก่อนหน้านี้
ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นภาพโดนรวมของครอบครัว และดนตรีที่มีต่อเด็ก ในส่วนต่อไป จะกล่าวถึงประเด็นสำคัญบางประเด็น เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องดนตรีให้กับครอบครัว และแนวทางในการจัดสิ่งแวดล้อมทางดนตรี เหมาะสมกับเด็กในช่วงวัยแรกเกิด จนถึงอายุหกปี

คุณค่าของดนตรี
พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ดนตรี เป็นเรื่องของเสียงที่ไพเราะสร้างสรรค์ อย่างพิถีพิถันด้วยมนุษย์ การฟังดนตรี สามารถสร้างเสริมจินตนาการของเด็กได้อย่างดี และการเรียนรู้ดนตรี สามารถใช้กระบวนการสร้างสรรค์ โดยการสร้างทำนอง จังหวะง่ายๆ จนถึงการประพันธ์เพลงขั้นสูง สิ่งเหล่านี้มีกฎเกณฑ์ และต้องใช้พลังสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก                                         
พัฒนาด้านอารมณ์ ความรู้สึก ดนตรี เป็นโสตศิลป์ที่ปลุกเร้าให้มนุษย์ เกิดอารมณ์ต่างๆ ตามอิทธิพลของเสียงที่ได้ยิน การเกิดอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ ทำให้มนุษย์เรียนรู้ และตอบสนองต่ออารมณ์ ความรู้สึกของตนเองได้เป็นอย่างดี เป็นผลให้เกิดพัฒนาการทางอารมณ์ ความรู้สึกได้
พัฒนาด้านภาษา เพลงร้อง ประกอบด้วยภาษาหลากหลาย ที่ได้รับการประพันธ์ไว้อย่างไพเราะ การเรียนรู้เพลง ด้วยการขับร้อง เป้นการช่วยพัฒนาการทางภาษา อย่างได้ผล
พัฒนาด้านร่างกาย การสนองตอบต่อดนตรี ด้วยการเคลื่อนไหวลักษณะต่างๆ เป็นกิจกรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็ก ซึ่งมีผลโดยตรง ต่อพัฒนาการด้านร่างกาย
พัฒนาด้านปัญญา ดนตรี เป็นเรื่องของวิชาการที่ลึกซึ้งมาก มีการศึกษาจนถึงระดับปริญญาเอก การเรียนดนตรีอย่างถูกแบบแผน จึงเป็นการพัฒนาด้านปัญญาอย่างลึกซึ้ง เช่นเดียวกับวิชาการด้านอื่นๆ
พัฒนาด้านความเป็นเอกบุคคล การแสดงออกทางดนตรี หรือการสนองตอบต่อดนตรี เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรง กับความคิดการกระทำของแต่ละบุคคล การเรียนดนตรี จึงเป็นการพัฒนา ความเป็นเอกบุคคล อย่างถึงแก่น นอกจากนี้ การเล่นดนตรีเป็นวง สามารถช่วยพัฒนาความเป็นองค์กร ที่มีเอกลักษณ์ด้วย
พัฒนาด้านสุนทรีย์ ดนตรี เป็นเรื่องของสุนทรีย์ของเสียง การเรียนรู้ และมีประสบการณ์ทางดนตรีที่ดี ประทับใจ ทำให้ผู้ศึกษา เกิดพัฒนาการทางสุนทรีย์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ชีวิตของเด็กสมบูรณ์ขึ้น เมื่อเป็นผู้ใหญ่ต่อไป ในวันข้างหน้า
การฟังดนตรี สามารถช่วยสร้างจินตนาการ และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ได้อย่างไร้ขอบเขต
กล่าวได้ว่า ดนตรี เป็นส่วนหนึ่งของเด็ก ทำให้เด็กมีการพัฒนาด้านสมอง ช่วยให้เด็กสามารถคิดได้อย่างมีเหตุผล และคิดอย่างสร้างสรรค์ ช่วยพัฒนาด้านอารมณ์ ทำให้เด็กเข้าใจ และเข้าถึงความรู้สึกของตน ช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถทางกาย สร้างเสริมพัฒนาการทางสังคม ช่วยให้เข้าใจวัฒนธรรม และอารยธรรมของมนุษย์ และที่สำคัญยิ่ง คือ ดนตรีเปิดโลกของเด็ก ให้เห็นความงดงามของโสตศิลป์ ทำให้มนุษย์เห็นคุณค่าของมนุษย์ และช่วยให้มนุษยชาติดำรงอยู่

กิจกรรมดนตรี                                       

สำหรับครอบครัว กิจกรรมดนตรีต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างที่ พ่อ แม่ หรือผู้เลี้ยงดูเด็ก สามารถปฏิบัติได้ ซึ่งส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางดนตรี ที่ครบถ้วนในวัยเด็ก โดยครอบครัวควรหาความรู้ เพื่อเตรียมกิจกรรมต่างๆ ให้ถูกต้องเหมาะสมด้วย
  1. ฟังเสียงรอบๆ ตัว และเลียนเสียงที่ได้ยิน
  2. นำเสียงต่างๆ ที่บันทึกไว้ให้เด็กฟัง และทายว่าเป็นเสียงอะไร
  3. ทำเสียงต่างๆ โดยไม่ให้เด็กเห็น และให้ทายว่า เป็นเสียงอะไร
  4. ให้เด็กทายเสียงเครื่องดนตรีที่ได้ยินจากเพลง โดยมีรูปเครื่องดนตรีให้ดู
  5. ให้เด็กเดิน ช้า-เร็ว ตามจังหวะที่กำหนด
  6. ให้เด็กทำเสียง ดัง-เบา ตามที่ได้ยิน จากการเล่นเครื่องดนตรี
  7. เปิดเพลงให้เด็กฟัง และให้เคลื่อนไหว แสดงความ ดัง-เบา ของบทเพลง
  8. ตบมือเป็นจังหวะต่างๆ และให้เด็กตบตาม
  9. เปิดเพลงให้เด็กฟัง และถามความรู้สึก หรือภาพพจน์ที่เด็กนึกถึง
ให้เด็กเคลื่อนไหวตามเพลง และหยุดการเคลื่อนไหว เมื่อเพลงหยุด
ให้เด็กแต่งเรื่องจากเพลงที่ฟัง สองสามครั้ง หรือเคลื่อนไหวเป็นเรื่องราว
ให้เด็กร้องเพลงที่ชอบ ให้ฟังนำเทปเพลงที่ชอบมาเปิดให้ฟัง โดยพ่อแม่นำเสนอเช่นเดียวกัน
นำเทปการแสดงดนตรี หรือนาฏศิลป์ ให้เด็กชม และพูดคุย หรือให้ทำท่าเลียนแบบ
ให้เด็กนอนราบกับพื้น หลับตา ฟังเพลงสั้นๆ และให้ทำท่าประกอบเพลง หรือบรรยายเป็นเรื่องราว ตามจินตนาการ
ให้เด็กทำกิจกรรมอิสระทางดนตรี และสังเกตความชอบของเด็ก
ให้เด็กเล่นเครื่องประกอบจังหวะอย่างเดียว หรือเล่นคลอไปกับเพลง

                                      การเคาะจังหวะ เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ

ดนตรีสำหรับเด็ก

         ดนตรีที่นำมาใช้กับเด็กในวัยนี้ ทำให้เด็กมีการสนองตอบต่างกันออกไป ทำนอง และจังหวะ เป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่มีอิทธิพลต่อการสนองตอบของเด็ก ดนตรีที่มีจังหวะกระชับ รวดเร็ว ทำนองเร้าใจ ทำให้เด็กสนใจ ครึกครื้น ดนตรีที่มีจังหวะช้า ทำนองงดงามเด่นชัด ทำให้เด็กสงบ แต่อาจจะไม่ทำให้เด็กสนใจในระยะแรก เนื่องจากต้องใช้สมาธิ หรือความพร้อมในด้านการฟังมาก แต่เหมาะในการใช้เป็นเพลงกล่อมให้นอน เพลงร้อง ควรมีเนื้อหาของเพลงใกล้ตัวเด็ก การร้องชัดเจน ดนตรีบรรเลง สร้างจินตนาการได้ดีกว่า ดนตรีที่มีการร้อง
                                                                                                     6
           ดนตรีที่นำมาใช้กับเด็ก เป็นดนตรีที่ได้รับการเลือกสรรอย่างดี เป็นดนตรีที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นเพลงประเภทต่างๆ ต่อไปนี้
เพลงเด็ก
เพลงพื้นบ้าน
เพลงไทยเดิม
เพลงไทยเดิมประยุกต์
เพลงนานาชาติ
เพลงคลาสสิก
ดนตรีกับสมอง
           ความคิดไม่ว่าในลักษณะใด เกี่ยวข้องโดยตรงกับสมอง เนื่องจากการศึกษา ให้ทราบว่า สมองมีหน้าที่ในการคิด และควบคุมการทำงานของร่างกาย สมองแบ่งเป็นสองส่วน คือ ซีกซ้าย และซีกขวา ซึ่งมีหน้าที่แตกต่างกัน แต่ทำงานร่วมกัน จากการศึกษาทราบว่า สมองซีกขวา ทำหน้าที่โดยตรง เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ดนตรีมีอิทธิพลต่อการรับรู้ ดนตรีเบาๆ สบายๆ มีโครงสร้างซับซ้อน ทำให้การรับรู้สิ่งต่างๆ ง่ายขึ้น การสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ดีในสภาพเช่นนี้ ดนตรีมีส่วนช่วยพัฒนาเชาว์ปัญญาในเด็กเล็ก จากการทดลองของ Dr.Rauscher ในเด็กระหว่างอายุ 3-4 ปี สองกลุ่มที่ประกอบกิจกรรมดนตรี และไม่มีกิจกรรมดนตรี พบว่า เด็กกลุ่มแรก มีการรับรู้ของเชาว์ปัญญา เรื่องที่ว่าง ได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด หลังจากทำการทดลองสี่เดือน

         ดนตรี มีองค์ประกอบสมบูรณ์แบบ เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ด้วยความรัก ความพยายาม ย่อมมีคุณค่าในตัวเอง และเป็นสิ่งที่มนุษย์ด้วยกันเอง ควรจะได้ชื่นชม การสัมผัสกับดนตรี ควรเริ่มมาแต่เด็ก เพื่อสร้างเสริม และพัฒนาความเข้าใจ ควมซาบซึ้งอย่างแท้จริง นอกเหนือจากความงดงามที่มนุษย์จะได้จากดนตรีแล้ว ความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนทักษะ ที่ได้จากการฝึกฝนดนตรีมาตั้งแต่เด็ก มีผลในการสร้างเสริมความสามารถ ทั้งทางด้านสติปัญญา ความรู้สึก และพัฒนาการด้านอื่นๆ ด้วย การเรียนดนตรี จึงมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งต่อเด็ก ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของประเทศ และสังคมโลกต่อไป

         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น