โอเปร่า (Opera)


โอเปร่า


ประวัติ

โอเปร่ามีกำเนิดขึ้นในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 16 ณ ประเทศอิตาลี ต้นกำเนิดของโอเปร่าสามารถสืบค้นไปได้ถึงสมัยกรีกโบราณ ซึ่งมีการแสดงที่เรียกว่า tragedies ลักษณะเป็นการขับร้องประสานเสียงประกอบบทเจรจา ในสมัยกลางเรเนสซองส์มีการแสดงที่ใช้การร้องดำเนินเรื่องราว เมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 16 กลุ่มนักดนตรีอิตาเลียน ที่เมืองฟลอเรนซ์ได้ศึกษาประวัติเกี่ยวกับละครร้องย้อนไปถึงยุคกรีกโบราณดัง กล่าว ในที่สุดจึงคิดรูปแบบการประพันธ์ที่เรียกว่า โอเปร่า (Opera)ขึ้น ผู้ประพันธ์เพลงซึ่งได้ประพันธ์และพัฒนารูปแบบโอเปร่าคือ เพรี ราวต้นศตวรรษที่ 17 มอนเทเวร์ดีได้ปรับรูปแบบโอเปร่าให้สมบูรณ์ขึ้น ทำให้โอเปร่ามีรูปแบบคล้ายกับรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ยุคบาโรคโอเปร่าเป็นการแสดงที่ผู้ขับร้องนำงตัวพระเอกและนางเอกเป็นสตรีล้วน ตั้งแต่ยุคคลาสสิกเป็นต้นมาผู้ขับร้องนำทั้งตัวพระเอกและนางเอกใช้ผู้ขับร้องเป็นชายและหญิงแท้จริง โมซาร์ทเป็นผู้หนึ่งที่พัฒนารูปแบบโอเปร่าในยุคคลาสสิกให้มีมาตรฐาน โดยได้ประพันธ์โอเปร่าไว้หลายเรื่องด้วยกัน ในยุคโรแมนติกการประพันธ์โอเปร่ามีรูปแบบหลากหลาย บางเรื่องมีความยาวมาก สามารถแสดงได้ทั้งวันทั้งคืน

องค์ประกอบของโอเปร่า

  • 1. เนื้อเรื่อง เนื้อเรื่องที่นำมาเป็นบทขับร้อง เป็นบทร้อยกรองที่มาจากตำนาน เทพนิยายนิทานโบราณ และวรรณกรรมต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงมาทำเป็นบทร้อง และที่แต่งขึ้นใหม่สำหรับแสดงโอเปร่าโดยเฉพาะ โดยมีคีตกวีเป็นผู้แต่งทำนองดนตรี คีตกวีบางคนก็มีความสามารถแต่งเรื่องทำเนื้อเรื่องให้เป็นบทร้อยกรองหรือบท ละครสำหรับขับร้อง และแต่งดนตรีประกอบทั้งเรื่องด้วย
  • 2. ดนตรี ดนตรีในโอเปร่านั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้โอเปรามีชีวิตจิตใจ มักเริ่มด้วยดนตรีบรรเลงโหมโรง (Overture) บรรเลงประกอบบทร้อยกรองซึ่งเป็นบทขับร้อง ทั้งดำเนินเรื่องและเจรจากันตลอดทั้งเรื่อง ดนตรีเป็นองค์ประกอบสำคัญ จนโอเปร่าได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานของผู้ประพันธ์ดนตรี หรือ คีตกวี (Composer) มากกว่าที่จะคิดถึงผู้ประพันธ์เนื้อเรื่อง หรือ บทขับร้อง เช่น  โอเปร่าเรื่อง Madame Butterfly Giacomo ของ Puccini (1878-1924)ปุชชีนี เป็นคีตกวีที่แต่งดนตรีประกอบ ผู้แต่งละครเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย คือ David Belasco (David Belasco ได้เค้าเรื่องนี้จากเรื่องสั้นของ John Luther Long) ผู้ร้อยกรองเนื้อเรื่องให้เป็นบทขับร้อง คือ Luigi lllica และ Giuseppe Giacosa แต่เมื่อพูดถึงโอเปร่าเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลายแล้ว ก็จะยกย่องให้เป็นผลงานของคีตกวีปุชชินี มักไม่มีใครนึกถึงนักประพันธ์ หรือ กวีผู้ร้อยกรองเรื่องให้เป็นบทขับร้อง หรือโอเปร่าเรื่อง คาร์เมน (Carmen) ของ บิเซต์ (Georges Bizet) ที่มี Prosper Merimee เป็นผู้ประพันธ์เรื่อง และมี Henri Meilhac และ Ludovic Halevy เป็นผู้ร้อยกรองบทขับร้อง แต่คนก็จะพูดกันถึงแต่เพียงว่าโอเปร่าเรื่องคาร์เมนของบิเซต์ ดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบเป็นวงออร์เคสตรา (Orchertral)
  • 3. ผู้แสดง ผู้แสดงโอเปร่านอกจากต้องเป็นนักร้องที่เสียงไพเราะดังแจ่มใสกังวาน มีพลังเสียงดี แข็งแรงร้องได้นาน ต้องฝึกฝนเป็นนักร้องอุปรากรโดยเฉพาะ ยังเป็นผู้มีบทบาทยอดเยี่ยมด้วย เน้นในเรื่องน้ำเสียง ความสามารถในการขับร้องและบทบาทมากกว่าความสวยงามและรูปร่างของผู้แสดง มักให้นักร้องเสียงสูงทั้งหญิงและชายแสดงเป็นตัวเอกของเรื่อง โดยทั่วไป น้ำเสียงที่ใช้ในการขับร้องแบ่งเป็น 6 ระดับเสียง คือ เป็นน้ำเสียงนักร้องชาย 3 ระดับ และน้ำเสียงนักร้องหญิง 3 ระดับ ดังนี้
1. โซปราโน (Soprano) เป็นระดับเสียงสูงสุดของนักร้องหญิง
2. เมซโซโซปราโน (Mezzo - Soprano) เป็นระดับเสียงกลางของนักร้องหญิง
3. คอนทรัลโต หรือ อัลโต (Contralto or Alto) เป็นเสียงระดับต่ำสุดของนักร้องหญิง
4. เทเนอร์ (Tenor) เป็นเสียงระดับสูงสุดของนักร้องชาย
5. บาริโทน (Baritone) เป็นเสียงระดับกลางของนักร้องชาย
6. เบส (Bass) เป็นเสียงระดับต่ำสุดของนักร้องชาย

ลักษณะของโอเปร่า

  • 1. ลิเบรตโต (Libretto) คือเนื้อเรื่อง หรือบทละครของโอเปร่า บางครั้งบทโอเปร่าอาจจะเป็นบทหนึ่งที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายหรือบทละครอื่น ๆ บางครั้งบทโอเปราก็เป็นบทที่ผู้ประพันธ์แต่งเนื้อเรื่องขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ประพันธ์เพลงใช้เป็นบทแต่งโอเปร่า เช่น ดา ปองเต (Da Ponte) เขียนบทโอเปร่าบางเรื่องให้กับโมซาร์ท เช่น เรื่อง Don Giovanni, บัวตา (Boita) เขียนบทโอเปร่าบางเรื่องให้กับแวร์ดี เช่น เรื่อง Otella บางครั้งบทโอเปราเป็นบทประพันธ์ของผู้ประพันธ์เพลงเองโดยแท้ เช่น วากเนอร์ ประพันธ์ Lohengrin และ The Flying Dutchman และเมโนตี (Menotti) ประพันธ์ The Telephone เป็นต้น
  • 2. โอเวอร์เชอร์ (Overture) คือ บทประพันธ์ที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีล้วน ๆ ใช้เป็นเพลงนำก่อนการแสดงโอเปร่า อาจเรียกเป็นภาษาไทยได้ว่า “เพลงโหมโรง” บางครั้งอาจใช้คำว่า พรีลูด(Prelude) แทนโอเวอร์เชอร์ เพลงโอเวอร์เชอร์อาจจะเป็นเพลงที่แสดงถึงบรรยากาศของโอเปร่าที่จะแสดง กล่าวคือ ถ้าโอเปร่าเป็นเรื่องเศร้าโอเวอร์เชอร์จะมีทำนองเศร้า ๆ อยู่ในที เป็นต้น บางครั้งโอเวอร์เชอร์อาจเป็นเพลงที่รวมทำนองหลักของโอเปร่าฉากต่าง ๆ ไว้ก็ได้ โอเวอร์เชอร์มักเป็นเพลงสั้น ๆ ประมาณ 5-10 นาที ปกติจะใช้วงออร์เคสตราทั้ง วงบรรเลง ถ้าโอเปราเรื่องนั้นใช้วงออร์เคสตราประกอบ ลักษณะของเพลงโอเวอร์เชอร์ มักรวมเอาองค์ประกอบต่าง ๆ ของดนตรีไว้อย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นด้านความดัง – ค่อย สีสัน ลีลาต่าง ๆ จึงทำให้โอเวอร์เชอร์เป็นบทเพลงที่ชวนฟัง โอเวอร์เชอร์ของโอเปราบางเรื่องมีความไพเราะเป็นที่นิยมฟังและบรรเลงเป็น เพลงบทเพลงแรกของการแสดงคอนเสิร์ตโดยทั่วไป เช่น “Overture of The Marriage of Figaro” ของโมซาร์ท “Overture of the Barder of Saville” ของ รอสซินี “Overture of Fidelio” ของเบโธเฟน “Overture of Carmen” ของบิเซต์ เป็นต้น
  • 3. รีซิเททีฟ (Recitative) คือบทสนทนาในโอเปร่าที่ใช้การร้องแทนการใช้คำพูด อย่างไรก็ตามมักจะไม่เป็นทำนองที่ไพเราะมากนัก จะเน้นที่คำพูดมากกว่า แต่ก็มีดนตรีและการร้องช่วยทำให้บทสนทนาน่าสนใจ เป็นลักษณะการร้องหรือดนตรีอีกประเภทหนึ่ง
  • 4. อาเรีย (Aria) คือ บทร้องเดี่ยวในโอเปร่า มีลักษณะตรงกันข้ามกับรีซิเททีฟ เนื่องจากเน้นการร้องและดนตรีเป็นหลัก มากกว่าเน้นการสนทนา อาเรียเป็นบทร้องที่ตัวละครตัวเดียวร้องซึ่งจัดเป็นบทร้องที่เต็มไปด้วยลีลา ของดนตรีที่งดงาม จึงยากแก่การร้อง กล่าวได้ว่าอาเรียเป็นส่วนที่ทำให้โอเปร่ามีความเป็นเอกลักษณ์ได้เลยทีเดียว
  • 5. บทร้องประเภทสอง สาม สี่ และมากกว่านี้ของตัวละคร (Duo, Trio, and Other Small Ensembles) บทร้องที่มีคนร้องสองคนแทนที่จะเป็นคนเดียวในลักษณะของอาเรียเรียกว่า ดูโอ (Duo) ถ้าเป็น 3 คนร้องเรียกว่า ทรีโอ (Trio) สี่และห้าคนร้องเรียกว่า ควอเต็ต (Quartet) และควินเต็ต (Quintet) และอาจมีมากกว่าห้าคนก็ได้ เช่น บทร้อง 6 คน(Sextet) “Lucia” จากเรื่อง Rigoletto เป็นบทร้องที่มีชื่อเสียงของโอเปร่ามาก
  • 6. บทร้องประสานเสียง (Chorus) ในโอเปร่าบางเรื่องที่มีฉากประกอบด้วยผู้เล่นเป็นจำนวนมาก มักจะมีการร้องประสานเสียงเสมอ บทร้องประสานเสียงจากโอเปร่าที่มีชื่อเสียง เช่น “The Anvil Chorus” จาก II Irovatore, “The Pilgrim’s Chorus” จาก “Tannhauser, The Triumphal Chorus” จาก Aida
  • 7. ออร์เคสตรา (Orchestra) วงออร์เคสตรานอกจากจะเล่นโอเวอร์แล้ว ยังใช้ประกอบการร้องในลักษณะต่าง ๆ ในโอเปราตลอดเรื่องในบางครั้งออร์เคสตราจะบรรเลงโดยไม่มีผู้ร้องเพื่อต่อ เนื่องการร้องหรือรีซิเททีฟแต่ละตอนหรือสร้างอารมณ์ในเนื้อเรื่องให้เข้มข้น ขึ้น บางครั้งวงออร์เคสตราจะมีบทบาทในโอเปร่ามากทีเดียว เช่น โอเปร่า ที่แต่งโดยวากเนอร์ มักจะเน้นการบรรเลงของวงออร์เคสตราเสมอ
  • 8. ระบำ (Dance) ในโอเปร่าแทบทุกเรื่องมักจะมีบางตอนของฉากใด ฉากหนึ่งที่มีระบำประกอบ โดยทั่วไปการเต้นรำมักเป็นการแสดงบัลเลต์ที่ สวยงาม ซึ่งเป็นของคู่กันโอเปราแบบฝรั่งเศส (French Opera) บางครั้งอาจจะเป็นระบำในลักษณะอื่น ๆ เช่น ระบำพื้นเมือง การเต้นรำแบบต่าง ๆ เช่น วอล์ทซ (Waltz) เพื่อให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่องของโอเปร่า
  • 9. องก์ และฉาก (Acts and Scenes) โอเปร่าก็เช่นเดียวกับละครทั่ว ๆ ไป มีการแบ่งเป็นตอน ๆ เรียกว่า องก์ และแบ่งย่อยลงไปเป็นฉาก เช่น คาร์เมน (Carmen) เป็นโอเปร่า ประกอบด้วย 4 องก์ เป็นต้น
  • 10. ไลท์โมทีฟ (Leitmotif) ในโอเปร่าบางเรื่อง ผู้ประพันธ์จะมีแนวทำนองต่าง ๆ แทนตัวละครแต่ละตัว หรือแทนเหตุการณ์ สภาพการณ์ และแนวทำนองเหล่านี้จะปรากฏอยู่ตลอดเวลาในโอเปร่าเพื่อแทนตัวละครหรือ เหตุการณ์นั้น ๆ วากเนอร์เป็นผู้หนึ่งที่ชอบใช้ไลท์โมทีฟ เช่น Ring motive ของ Ring Cycle และ Love motive ใน Tristan and Isolde

ประเภทของโอเปร่า

  • 1. โอเปร่า (Opera) โดยปกติคำว่า “โอเปร่า” มักจะใช้จนเป็นที่เข้าใจว่า หมายถึง โอเปราซีเรีย (Opera seria) หรือ Serious opera หรือ Grand opera ซึ่งเป็นโอเปร่าที่ผู้ชมต้องตั้งใจดูอย่างมากเพราะการดำเนินเรื่องใช้บทร้อง ลักษณะต่าง ๆ และรีซิเททีฟไม่มีการพูดสนทนาซึ่งจัดว่าเป็นศิลปะดนตรีชั้นสูง เช่นเดียวกับการเข้าถึงศิลปะแขนงอื่น ๆ การชมโอเปร่าประเภทนี้จึงต้องมีพื้นความรู้และมีความเข้าใจในองค์ประกอบของ โอเปร่า โดยเฉพาะด้านดนตรีเพื่อความซาบซึ้งอย่างแท้จริงเรื่องราวของโอเปร่าประเภท นี้มักจะเป็นเรื่องของความเก่งกาจของพระเอกหรือตัวนำ หรือเป็นเรื่องโศกนาฏกรรม (Heroic or tragic drama) โอเปร่าประเภทนี้มักดำเนินเรื่องด้วยการร้องตลอดเรื่อง ไม่มีบทพูด หรือเจรจาอยู่เลย โดยใช้บทร้องกึ่งพูด รีซิเททีฟ (Recitative) ทั้งหมด
  • 2. โคมิค โอเปร่า (Comic Opera) หรือโอเปร่าชวนหัว คือ โอเปร่าที่มักจะมีเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน ตลกขบขันล้อเลียนคน หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ มักมีบทสนทนาที่ใช้พูดแทรกระหว่างบทเพลงร้อง โอเปร่าประเภทนี้จะดูง่ายกว่าประเภทแรก เนื่องจากเนื้อเรื่องสนุกสนาน มีบทสนทนาแทรก ดนตรีและเพลงที่ฟังไพเราะไม่ยากเกินไป โคมิคโอเปร่ามีหลายประเภท เช่น Opera–comique (ฝรั่งเศส) Opera buffa (อิตาเลียน) Ballad opera (อังกฤษ) และ Singspiel (เยอรมัน)
  • 3. โอเปเรตตา (Operetta) โอเปอเรตตาจัดเป็นโอเปร่าขนาดเบา เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นการสะท้อนชีวิตจริงในสังคม โดยมีการสอดแทรกบทตลกเบาสมองอยู่ด้วย บางครั้งอาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักกระจุ่มกระจุ๋ม คล้าย ๆ กับ โคมิคโอเปรา โดยปกติโอเปเรตตาใช้การพูดแทนการร้องในบทสนทนา
  • 4. คอนทินิวอัส โอเปร่า (Continuous opera) เป็นโอเปร่าที่ผู้ประพันธ์ใช้ดนตรีเชื่อมโยงเรื่องราวตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ มิใช่เป็นการร้องหรือสนทนาที่เป็นช่วง ๆ ลักษณะของคอนทินิวอัส โอเปร่านี้วากเนอร์เป็นผู้นำและใช้เสมอในโอเปร่าที่เขาเป็นผู้ประพันธ์

ตัวอย่างบทประพันธ์โอเปร่าที่สำคัญ

  • 1. Opera, Serious Opera
    • Don Giovanniโดย โมซาร์ท
    • The Magic Flute โดย โมซาร์ท
    • Alceste โดย กลุ๊ค
    • La Bohème โดย ปุชชีนี
    • Hensel and Gretel โดย ฮัมเปอร์ดิง
    • Julius Caesar โดย ฮันเดล
    • Lohengrin โดย วากเนอร์
    • Madama Butterfly โดย ปุชชีนี
    • The Mastersingers of Nuremberg โดย วากเนอร์
    • Norma โดย เบลลินี
    • Orpheus and Eurydice โดย กลุ๊ค
    • Otello โดย แวร์ดี
    • Parsifal โดย วากเนอร์
    • Pelleas et Melisande โดย เดอบูสซี
    • Prince Igor โดย โบโรดิน
    • The Rake's Progress โดย สตราวินสกี
    • Rigoletto โดย แวร์ดี
    • The Ring of the Nibelung (โอเปร่า 4 เรื่อง) โดย วากเนอร์
    • Romeo et Juleitte โดย กูโน
    • The Tale of Hoffmann โดย ออฟเฟนบาค
    • La Tosca โดย ปุชชินี
    • Tristan and Isolde โดย วากเนอร์
    • La Traviata โดย แวร์ดี
    • William Tell โดย รอสชินี
  • 2. Comic Opera, Operetta
    • The Abduction From The Seraglio โดย โมซาร์ท
    • The Barber of Seville โดย รอสชินี
    • The Bartered Bride โดย สเมนตานา
    • Die Fledermaus โดย โยฮัน สเตราส์
    • Hary Janos โดย โคดาย
    • H.M.S. Pinafore โดย กิลเบิร์ต และซัลลิแวน
    • The Marriage of Figaro โดย โมซาร์ท

อ้างอิง

  • คมสันต์ วงค์วรรณ์. ดนตรีตะวันตก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2551
  • ณรุทธ์ สุทธจิตต์. สังคีตนิยม ความซาบซึ้งในดนตรีตะวันตก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2548
  • กรมวิชาการ. กระทรวงศึกษาธิการ. ดนตรีคลาสสิก...บทเพลงและการขับร้อง. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา. 2545

6 ความคิดเห็น: